หัวข้อที่3 เรื่องทฤษฎีสำนักกฎหมาย

หัวข้อที่3 เรื่องทฤษฎีสำนักกฎหมาย


นิติปรัชญา:แนวคิดสำนักกฎหมาย
สำนักกฎหมายธรรมชาติ
กฎหมายธรรมชาติคือ กฎเกณฑ์ที่กำหนดแบบแผนการปฏิบัติของมนุษย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากความจำนงของผู้ใด มีลักษณะเหมือนกันในทุกหนแห่ง โดยเน้นว่ากฎเกณฑ์ต่างๆมีระเบียบอยู่โดยธรรมชาติของมันเอง ไม่ขึ้นอยู่กับอำเภอใจของบุคคล มนุษย์เพียงแต่ใช้สติปัญญาไปค้นพบเท่านั้น
ทฤษฎีแรก เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติที่เริ่มต้นในยุคโบราณ สมัยกรีกและโรมัน ถือว่ากฎหมายธรรมชาติเป็นหลักเกณฑ์ในอุดมคติที่มีค่าบังคับสูงสุดกว่ากฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเอง ในแง่เหตุผลบริสุทธิ์ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ ลักษณะสมบูรณภาพและความเป็นสากลของกฎหมายธรรมชาติ ดังนั้นกฎหมายใดที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเองซึ้งขัดหรือแย้งต่อหลักกฎหมายธรรมชาติ ย่อมไม่มีค่าบังคับเป็นกฎหมาย โดยเชื่อว่าจักรวาลนี้มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน และเชื่อว่ามนุษย์ประกอบด้วย 2 ส่วน
1. ส่วนธรรมชาติ คือ ร่างกาย (รูปธรรม)
2. สติปัญญาที่จะรู้ และเข้าใจสิ่งต่างๆ (นามธรรม)
ลักษณะสำคัญทาง กฎหมายธรรมชาติ
1.ต้องเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไป คือ เป็นจริงในทุกสถานที่ สังคมสมัยนั้นเป็นสังคมแคบๆ มิได้สื่อสารกับกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมีจารีตประเพณีแตกต่างออกไป จึงเชื่อว่าจารีตประเพณีของตนเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไป (เทศะ)
2.ต้องมีลักษณะนิรันดร คือ เป็นจริงตลอดไป การพัฒนาสังคมในสมัยนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า กฎเกณฑ์ทางสังคม มีลักษณะเป็นจารีตประเพณี นับถือจากคนรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง จึงเชื่อว่าจารีตประเพณีของตนเป็นนิรันดร (กาละ)
ความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ มี 2 ทฤษฎี
1.เชื่อว่าธรรมชาติมนุษย์มีเหตุผล เชื่อว่ามนุษย์สามารถรู้จักผิดชอบชั่วดี จึงทำให้สามารถเข้าใจหรือค้นหาหลักเกณฑ์ที่เป็นกฎหมายธรรมชาติได้ และยอมรับว่าโลกนี้เป็นโลกของเหตุผล มีหลักเกณฑ์ของมัน สังคมหรือรัฐบาลมนุษย์เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ
2.เชื่อว่ามนุษย์ไม่มีเหตุผล แต่ดำเนินชีวิตไปตามความอยาก ความต้องการ ระบบสังคมจึงเป็นระบบของอำนาจไม่สามารถที่จะชี้ว่าอะไรผิด-ถูก ได้ หากไม่คำนึงถึงอำนาจ และผลประโยชน์
กฎหมายธรรมชาติทฤษฎีแรก มีสิ่งที่จะนำมาประกอบใช้คือ ความจริง ข้อความคิด รู้จักตนเอง จริยธรรม คุณธรรม ความยุติธรรม จารีตประเพณี สามัญสำนึก เหตุผลอันชอบธรรมตามธรรมชาติ และศีลธรรม
ทฤษฎีที่สอง เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติในยุคปัจจุบันถือว่าหลักกฎหมายธรรมชาติเป็นเพียงอุดมคติของกฎหมายที่จะบัญญัติขึ้น ดังนั้นการบัญญัติหรือการตรากฎหมายจึงควรให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายธรรมชาติ กฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับหลักการของกฎหมายธรรมชาติอาจถือว่าไม่มีค่าโดยสมบูรณ์ แต่ไม่มีผลเป็นโมฆะ หรือไม่มีค่าบังคับในทางกฎหมาย
กฎหมายธรรมชาติมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. กฎหมายเป็นเรื่องของเหตุผล กฎหมายที่แท้จริง คือ เหตุผลที่ถูกต้อง
2. กฎหมายธรรมชาติมีลักษณะทั่วไป
3. กฎหมายธรรมชาติผูกพันทุกคนให้ต้องปฏิบัติตาม
4. กฎหมายธรรมชาติมีค่าบังคับเหนือกว่า กฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้น
5. กฎหมายธรรมชาตินี้มีอยู่ภายในจิตใจของคน มนุษย์สามารถที่จะค้นพบว่าอะไรผิด-ถูก
6. กฎหมายธรรมชาติมีลักษณะสากลไม่เปลี่ยนแปลง

กฎหมายธรรมชาติทฤษฎีที่สอง มีสิ่งที่จะนำมาประกอบใช้คือ สิทธิ เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน กฎหมายที่เป็นธรรม คุณค่าทางจริยธรรม คุณธรรม ความยุติธรรม เหตุผลอันชอบธรรมตามธรรมชาติ และหลักศีลธรรมของกฎหมาย

1.2 สำนักกฎหมายบ้านเมืองคืออะไร
สำนักกฎหมายบ้านเมือง (สำนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายLegal Positivism)
สำนักกฎหมายบ้านเมืองนั้น เป็นแนวความคิดปฏิเสธ กฎหมายที่สูงกว่า (Higher Law) หรือกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) สิ่งที่ยอมรับเป็นกฎหมายที่แท้จริงคือกฎหมายบ้านเมืองหรือกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เท่านั้น
กฎหมายบ้านเมือง เป็นกฎหมายที่ตั้งอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยกฎหมายที่สูงกว่าเนื่องจากถือว่ารัฐาธิปัตย์มีอำนาจสูงสุดที่จะออกกฎหมายใดก็ได้ โดยมิอาจโต้แย้งถึงความถูก ความผิด ความดี ความชั่ว ยุติธรรม อยุติธรรม เพราะถือว่าสิ่งเหล่านี้เกิดจากกฎหมายที่รัฐาธิปัตย์มีอำนาจที่จะบัญญัติขึ้น
สาระสำคัญของความคิดนักคิดในแนวนี้ได้แก่
1. ทฤษฎี “อำนาจอธิปไตย” ของ Jean Bodin (ฌอง โบแดง)
ให้ความหมายของอำนาจอธิปไตยว่าเป็นอำนาจเด็ดขาดและถาวร เป็นอำนาจสูงสุดที่มิอยู่ภายใต้บังคับของกฎเกณฑ์ใดๆแสดงออกโดยการออกกฎหมายและยกเลิกกฎหมายเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นรัฐที่แท้จริง จากคำสอนของโบแดง ทำให้เกิดความคิดที่ถือว่า “กฎหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้น” ซึ่งพัฒนาไปสู่ความคิดสำนัก กฎหมายบ้านเมือง
2. ทฤษฎี “สัญญาสวามิภักดิ์” ของThomas Hobbes (โทมัส ฮอบส์)
เชื่อในอำนาจรัฐาธิปัตย์อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเชื่อว่ามนุษย์ชั่วร้าย ขัดแย้งกันตลอด จึงเข้าทำสัญญาประชาคมยกเลิกอำนาจให้รัฐาธิปัตย์เพื่อคุ้มครองรักษาให้แต่ละคนมีชีวิตรอด ซึ่งการมอบอำนาจให้รัฐาธิปัตย์นั้นเป็นการมอบอำนาจแบบสวามิภักดิ์ คือให้อำนาจเด็ดขาดให้ปกครองดูแล ลงโทษ ยอมให้ออกกฎหมายได้ ซึ่งกฎหมายคือคำสั่งของรัฐาธิปัตย์นั่นเองเครื่องมือรักษาความสงบของรัฐาธิปัตย์ คือ กฎหมายบ้านเมืองซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ทั้งโดยตรงและโดยปริยายที่รัฐสั่งการและกำหนดไว้ว่าเป็นสิ่งถูก-ผิด บังคับแก่ประชาชน เมื่อรัฐเป็น ผู้กำหนดความถูก-ผิด ยุติธรรม-อยุติธรรม จึงไม่อาจมีกฎหมายใดที่อยุติธรรมได้ เพราะเมื่อประชาชนเข้าทำสัญญาตกอยู่ใต้อำนาจรัฐแล้วเท่ากับว่าประชาชนเป็นผู้บัญญัติกฎหมายและย่อมไม่มีใครที่จะออกกฎหมายมาข่มเหงตัวเอง กฎหมายทั้งหลายจึงเป็นธรรมและประชาชนต้องยอมรับโดยดุษฎี

3. ทฤษฎี “กฎหมาย คือ คำสั่งของรัฐาธิปัตย์” ของJohn Austin(จอห์น ออสติน)
กฎหมาย คือ คำสั่งของรัฐาธิปัตย์ กฎหมายที่แท้จริงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. กฎหมายที่พระผู้เป็นเจ้ากำหนดขึ้นใช้บังคับกับมนุษย์
2.กฎหมายที่มนุษย์กำหนดขึ้นเพื่อใช้บังคับมนุษย์ด้วยกัน

แนวคิดความยุติธรรมของสำนักกฎหมายบ้านเมือง
- ความยุติธรรม คือการรักษาไว้ซึ่งคำสั่งที่เป็นกฎหมายใช้อย่างมีมโนธรรม
-หลักความยุติธรรมสูงสุดก็คือหลักความยุติธรรมตามกฎหมาย
-ความยุติธรรมเป็นคุณธรรมในจิตใจมนุษย์ เป็นความรู้สึกของแต่ละบุคคล
ดังนั้นความยุติธรรมของแต่ละคนจึงแตกต่างกัน ความยุติธรรมจึงเป็นเรื่องของความยุติธรรมตามกฎหมายเท่านั้น ความยุติธรรมภายใต้กฎหมาย มองความยุติธรรมทำนองเดียวกับปรัชญาเคารพกฎหมายอย่างเชื่อมั่น ถือว่าเป็นความยุติธรรมตามกฎหมาย ความยุติธรรมตามกฎหมายผูกพันความเชื่อทางศาสนา พระเจ้าของชาวยิวถือว่ากฎหมาย และความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกันมีกำเนิดจากพระเจ้า พระเจ้าเป็นผู้พิพากษา, ผู้บัญญัติกฎหมาย จึงให้ความสำคัญต่อกฎหมาย และความยุติธรรมอย่างเสมอภาคกัน ความยุติธรรมกับกฎหมายคือการใช้กฎหมายหรือการตีความกฎหมายโดยปราศจากความลำเอียงเป็นความยุติธรรมในการใช้กฎหมายในรูปธรรม

สำนักกฎหมายบ้านเมือง
1.กฎหมายทันสมัยกับเหตุการณ์ปัจจุบัน
2.ยอมรับการนำกฎหมายของประเทศอื่นมาใช้ในประเทศตน
3.เน้นนิติบัญญัติ
4.ไม่เน้นความยุติธรรมตามธรรมชาติแต่เน้นความยุติธรรมในตัวบทกฎหมายเท่านั้น
ความเหมือนและความแตกต่างของสำนักกฎหมายบ้านเมืองกับสำนักประวัติศาสตร์คือ สำนักกฎหมายบ้านเมืองและสำนักประวัติศาสตร์กฎหมายมีความเชื่อเหมือนกันว่าสังคมคือสิ่งที่ให้กำเนิดกฎหมายมิใช่พระเจ้า หรือกฎเกณฑ์ธรรมชาติข้อแตกต่าง
ข้อสรุป
แนวคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมืองมีความคิดว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในบ้านเมืองซึ่งบัญญัติโดยรัฐเป็นกฎหมายที่แท้จริงมีความสมบูรณ์ในตัวเองไม่มีกฎหมายอื่นที่เหนือกว่า การแก้ไขข้อพิพาททั้งปวงให้คิดจากกฎหมายบ้านเมืองที่ใช้บังคับกันอยู่โดยไม่ต้องพึ่งพาหลักการอื่นใดที่สูงกว่า

1.3 สำนักประวัติศาสตร์คืออะไร
สำนักประวัติศาสตร์ (Historical School) ภายหลังจากที่สำนักกฎหมายธรรมชาติ เฟื่องฟูในยุโรปได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส (Code Napoleon)มาเป็น แบบฉบับในการบัญญัติกฎหมายของประเทศต่างๆในยุโรปและเผยแพร่เข้ามาในเยอรมัน โดย ศาสตราจารย์ Thibaut แห่ง ม.ไฮเดนเบิร์ก ซึ่งสนับสนุนให้มีการตราประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันตามแบบฝรั่งเศส แต่แนวคิดของ ศาสตราจารย์ Thibaut ถูกโต้แย้งจาก ศาสตราจารย์Savigny ซึ่งกล่าวว่า “กฎหมายไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ตามใจชอบ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตัวของมันเองแล้วเติบโตเปลี่ยนแปลงคลี่คลายไปตามประวัติศาสตร์หรือลักษณะของชนชาติเหมือนกับ ต้นไม้ คนหรือสัตว์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว จะค่อยๆเติบโตไปตามหลักเกณฑ์วิวัฒนาการ” ทั้งนี้เพราะกฎหมายเป็นผลผลิตของชนชาติ กฎหมายของชนชาติใดย่อมเป็นไปตามความรู้สึกนึกคิด หรือจิตวิญญาณของชนชาติ (Volksgeist)ของชนชาตินั้น
Savigny เสนอว่า “ในการบัญญัติกฎหมาย ต้องศึกษาถึงจารีตประเพณีของชนชาติก่อน” แต่ก็มิได้หมายความว่าสำนักประวัติศาสตร์จะค้านมิให้มีการบัญญัติกฎหมายหรือจัดทำประมวลกฎหมายเพียงแต่ค้านว่า “การบัญญัติกฎหมายตามแนวทางของสำนักกฎหมายธรรมชาตินั้นไม่ถูกต้อง เพราะไม่คำนึงถึงจารีตประเพณีของชนชาติ และไม่คำนึงถึงความสำคัญทางวิชาการของนิติศาสตร์”



สาระสำคัญของความคิด
สำนักกฎหมายประวัติศาสตร์เสนอทฤษฎีทางกฎหมายที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1.ทฤษฎีกฎหมาย
2. ทฤษฎีวิวัฒนาการกฎหมาย
3. ทฤษฎีว่าด้วยวิชานิติศาสตร์
1. ทฤษฎีกฎหมาย
สำนักประวัติศาสตร์ อธิบายว่า รากฐานของกฎหมาย หรือบ่อเกิดของกฎหมาย คือจิตวิญญาณประชาชาติ (Volksgeist)โดย Savigny เน้นว่า กฎหมายค่อยๆเกิดขึ้นตามประวัติศาสตร์ มิได้ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของใครเกิดขึ้นและวิวัฒนาการไปเอง คำสอนของ Savigny จึงถือว่า Volkgeist เป็นบ่อเกิดของกฎหมาย

2.ทฤษฎีวิวัฒนาการของกฎหมาย
สำนักประวัติศาสตร์ อธิบายว่ากฎหมายเกิดขึ้นจากVolkgeist แล้ววิวัฒนาการเป็นกฎหมายชาวบ้าน (Volksrecht)และพัฒนาไปสู่กฎหมายนักกฎหมาย (Juristenrecht) สำหรับกระบวนการนิติบัญญัตินั้น สำนักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นกระบวนการที่เกิดจากผลของนิติศาสตร์ “การนิติบัญญัติเป็นเพียงการบันทึกผลของนิติศาสตร์เท่านั้น”
3.ทฤษฎีวิชาการนิติศาสตร์
Savigny เห็นว่า การศึกษากฎหมาย การบัญญัติกฎหมายที่ยึดแต่ตัวอักษร ไม่คำนึงถึง ข้อเท็จจริงและความเป็นมา ทำให้ไม่สามารถเข้าใจกฎหมายได้อย่างถ่องแท้ ถ้าปราศจากการสืบสวนไปดูว่าตัวบทที่เราจะทำความเข้าใจมีความเป็นมาในทางประวัติศาสตร์อย่างไรซึ่งเรียกว่า “นิติวิธีทางประวัติศาสตร์”
ข้อสรุป
สำนักประวัติศาสตร์สอนว่ากฎหมายเกิดขึ้นจาก “จิตวิญญาณประชาชาติ” (Volksgeist) หมายถึง ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่มีอยู่ในชนชาติใดชนชาติหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ดั้งเดิมเริ่มต้นของชนชาติ และวิวัฒนาการไปตามกาลเวลา ได้รับการปรุงแต่งและวิวัฒนาการจากข้อเท็จจริงต่างๆในทาง ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ แต่ละชนชาติจึงมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทัศนคติต่อความสัมพันธ์ประเภทต่างๆของสังคมแตกต่างไปตามสภาพของแต่ละชาติ
ความผิดชอบชั่วดีเหล่านั้นจะปรากฏออกมาในรูปศีลธรรม และจารีตประเพณี ต่อมาเมื่อสังคมเจริญขึ้น กฎเกณฑ์ความประพฤติในรูปจารีตประเพณี จะถูกปรุงแต่งให้สลับซับซ้อนจนกลายเป็นหลักกฎหมายในวิชานิติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้กฎหมายของแต่ละชาติจึงแตกต่างกันไป ไม่สามารถเอากฎหมายของประเทศหนึ่งมาเป็นกฎหมายของอีกประเทศหนึ่งได้

ข้อเสียของสำนักประวัติศาสตร์
1.ล้าหลังทำให้ไม่ทันกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน
2.คัดค้านการนำกฎหมายของประเทศอื่นมาใช้ในประเทศตน
3.เน้นนิติศาสตร์
4.เน้นความยุติธรรมตามกฎหมายธรรมชาติเนื่องจากพัฒนามา จากขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรม

Comments

Popular posts from this blog

หัวข้อที่ 4 หลักจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล มีดังนี้

หัวข้อที่ 7.เรื่องพรบวิชาชีพ

หัวข้อที่ 5.เรื่องข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมทางการพยาบาล + การสอบสวน