หัวข้อที่ 7.เรื่องพรบวิชาชีพ

หัวข้อที่ 7.เรื่องพรบวิชาชีพ
พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
ข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพ
การพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2550

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 (3) (ช) และด้วยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 คณะกรรมการสภาการพยาบาลจึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2550
ข้อ 2. ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3. ให้ยกเลิก
3.1 ข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์และการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2530
3.2 ให้ยกเลิกข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์และการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534
หมวด 1 บททั่วไป

ข้อ 4. ในข้อบังคับนี้
“การเจ็บป่วยฉุกเฉิน” หมายความว่า การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน จำเป็นต้องดำเนินการช่วยเหลือและการดูแลรักษาทันที และให้หมายความรวมถึงการปฐมพยาบาล การปฏิบัติและการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินและวิกฤต โดยเริ่มตั้งแต่จุดเกิดเหตุ หรือจุดแรกพบผู้ป่วย จนกระทั่งผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกวิธีจากแพทย์
“การเจ็บป่วยวิกฤต” หมายความว่า การเจ็บป่วยที่มีความรุนแรงถึงขั้นที่อาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตหรือพิการได้



หมวด 2
การประกอบวิชาชีพการพยาบาล
ส่วนที่ 1
การพยาบาล
ข้อ 5. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลชั้นสอง ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นสอง ให้กระทำการพยาบาลที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนตามแผนการพยาบาล
ในกรณีที่เป็นปัญหายุ่งยาก ซับซ้อนหรือเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือวิกฤต จะทำการประกอบวิชาชีพการพยาบาลได้ จะต้องกระทำร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลชั้นหนึ่ง หรือ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง
ข้อ 6. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นสอง ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นสอง จะให้ยาผู้ป่วยได้เฉพาะที่แพทย์ซึ่งเป็นผู้บำบัดโรคได้ระบุไว้ในแผนการรักษา หรือเมื่อเป็นการปฐมพยาบาล
ทั้งนี้ การให้ยาดังกล่าวห้ามมิให้ยา หรือสารละลายทางหลอดเลือดดำ ทางช่องรอบเยื่อบุไขสันหลัง หรือช่องไขสันหลัง
ข้อ 7. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง จะให้ยาผู้ป่วยได้เฉพาะที่แพทย์ซึ่งเป็นผู้บำบัดโรคได้ระบุไว้ในแผนการรักษาพยาบาล หรือเมื่อเป็นการปฐมพยาบาล
ทั้งนี้ การให้ยาผู้ป่วยดังกล่าวให้อยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
7.1 ห้ามมิให้ยา หรือสารละลายทางช่องรอบเยื่อบุไขสันหลัง หรือช่องไขสันหลัง
7.2 ห้ามมิให้ยาหรือสารละลายทางหลอดเลือดดำ เฉพาะที่สภาการพยาบาลประกาศกำหนด
ส่วนที่ 2
การทำหัตถการ
ข้อ 8. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง กระทำการพยาบาลโดยการทำหัตถการตามขอบเขตที่กำหนดดังนี้
8.1 การทำแผล การตกแต่งบาดแผล การเย็บแผล การตัดไหม การฝ่าฝีในตำแหน่งซึ่งไม่เป็นอันตรายต่ออวัยวะที่สำคัญของร่างกาย การถอดเล็บ และการจี้หูดหรือจี้ตาปลา
8.2 การทำแผล การตกแต่งบาดแผล การเย็บแผล การตัดไหม การฝ่าฝีในตำแหน่งซึ่งไม่เป็นอันตรายต่ออวัยวะที่สำคัญของร่างกาย การถอดเล็บ และการจี้หูดหรือจี้ตาปลา
8.3 การล้างตา
ข้อ 9. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง กระทำการพยาบาลโดยการทำหัตถการต่อไปนี้ จะต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่สภาการพยาบาลประกาศกำหนดและได้รับใบรับรองจากสภาการพยาบาล
9.1 การใส่และถอดห่วง (IUP)
9.2 การฝังและถอดยาคุมกำเนิด (Nor Plant)
9.3 การผ่าตัดตาปลา
9.4 การเลาะก้อนใต้ผิวหนัง บริเวณที่ไม่เป็นอันตราย
9.5 การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี VIA(Visual Inspection Using Acetic Acid)
9.6 การจี้ปากมดลูกด้วยความเย็น (Cryotherapy)

ส่วนที่ 3
การรักษาโรคเบื้องต้น

ข้อ 10. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ปรกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง ให้กระทำการประกอบวิชาชีพการพยาบาลตามข้อกำหนดในการรักษาโรคเบื้องต้น และการให้ภูมิคุ้มกันโรคได้ จะต้องได้รับการศึกษา/อบรมตามหลักสูตรที่สภาการพยาบาลกำหนดและต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร การพยาบาลเฉพาะทางสาขาเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น) ตามประกาศของสภาการพยาบาล
ข้อ 11. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง ที่ได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญเฉพาะทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์ สาขาเวชปฏิบัติชุมชน กระทำการประกอบวิชาชีพการพยาบาลตามข้อกำหนดในการรักษาโรคเบื้องต้นและการให้ภูมิคุ้มกันโรคได้ และต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลตามข้อกำหนดในการรักษาโรคเบื้องต้นและการให้ภูมิคุ้มกันโรค ตามประกาศของสภาการพยาบาล
ข้อ 12. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง ตาม ข้อ 10 และข้อ 11 ต้องกระทำการรักษาโรคเบื้องต้นตามข้อกำหนดในการรักษาโรคเบื้องต้นและการให้ภูมิคุ้มกันโรคของสภาการพยาบาลโดยเคร่งครัด จะต้องทำการรักษาโรคเบื้องต้นและการให้ภูมิคุ้มกันโรคโดย
12.1 ตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาโรค ตามมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพการพยาบาลโดยเคร่งครัด
12.2 ให้ผู้ป่วยไปรับการบำบัดรักษาจากผู้ประกอบวิชาชีพอื่น เมื่อปรากฎตรวจพบหรือเห็นว่าอาการไม่บรรเทา อาการรุนแรงเพิ่มขึ้น มีโรคหรือภาวะแทรกซ้อนเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อหรือมีเหตุอันควรอื่น ๆ เกี่ยวกับการบำบัดรักษา เช่น เครื่องมือ อุปกรณ์การบำบัดรักษาหรือ เวชภัณฑ์ เป็นต้น
ข้อ 13. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง ตามข้อ 12 ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาให้ใช้ยาได้ ตามคู่มือการใช้ยาที่สภาการพยาบาลกำหนด
ข้อ 14. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง ตามข้อ 12 จะให้ภูมิคุ้มกันโรค ต้องปฏิบัติตามแนวทางการให้ภูมิคุ้มกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ข้อ 15. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง ตามข้อ 12 จะต้องบันทึกรายงานเกี่ยวกับประวัติของผู้ป่วย หรือผู้รับบริการ อาการและการเจ็บป่วยโรค การให้การรักษาโรค หรือการให้การบริการตามความเป็นจริง ตามแบบของสภาการพยาบาลและต้องเก็บบันทึกรายงานไว้เป็นหลักฐาน

หมวด 3
การประกอบวิชาชีพการผดุงภรรภ์

ข้อ 16. ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นสอง ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นสอง จะให้ยาผู้ป่วยได้เฉพาะที่แพทย์ ซึ่งเป็นผู้บำบัดโรคได้ระบุไว้ในแผนการรักษาพยาบาลหรือเมื่อเป็นการปฐมพยาบาล
ทั้งนี้ การให้ยาผู้ป่วย ห้ามมิให้ยา หรือสารละลายทางหลอดเลือดดำทางช่องรอบเยื่อบุไขสันหลัง หรือช่องไขสันหลัง
ข้อ 17. ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นสอง ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบลและการผดุงครรภ์ชั้นสอง จะทำการผดุงครรภ์ได้แต่เฉพาะรายที่มีครรภ์ปกติ และคลอดอย่างปกติ ตลอดจนการพยาบาลมารดาและทารก
ข้อ 18. ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่งจะให้ยาผู้ป่วยได้เฉพาะที่แพทย์ ซี่งเป็นผู้บำบัดโรคได้ระบุไว้ในแผนการรักษาพยาบาล หรือเมื่อเป็นการปฐมพยาบาล
ทั้งนี้ การให้ยาผู้ป่วยดังกล่าวให้อยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
18.1 ห้ามมิให้ยา หรือสารละลายทางช่องรอบเยื่อบุไขสันหลังหรือช่องไขสันหลัง
18.2 ห้ามมิให้ยาหรือสารละลายทางหลอดเลือดดำ เฉพาะที่สภาการพยาบาลประกาศกำหนด
ข้อ 19. ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง จะทำการผดุงครรภ์ได้แต่เฉพาะรายที่มีครรภ์ปกติและคลอดอย่างปกติ ตลอดจนการพยาบาลมารดาและทารก
ในรายที่มีครรภ์ผิดปกติหรือคลอดผิดปกติ ถ้าไม่สามารถหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทำการคลอดได้ภายในเวลาอันสมควรและเห็นประจักษ์ว่าถ้าละเลยไว้จะเป็นอันตรายต่อมารดาหรือทารกก็ให้ทำคลอดในรายเช่นนั้นได้ แต่ห้ามมิให้ใช้คีมสูงหรือทำผ่าตัดในการทำคลอดหรือให้ยารัดมดลูกก่อนคลอดหรือใช้เครื่องดูดสูญญากาศในการทำคลอด
ในรายที่รกค้างถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอันตรายต่อมารดาให้ทำคลอดรกด้วยวิธี ดึงรั้งสายสะดือ ถ้ารกไม่คลอดให้ส่งต่อทันที
ในรายที่มีการตกเลือดหลังคลอดถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอันตรายต่อมารดาให้รักษาอาการตกเลือดเบื้องต้นตามความจำเป็นและส่งต่อทันที
ข้อ 20. ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ทั้งชั้นหนึ่งและชั้นสอง จะต้องใช้ยาทำลายและป้องกันการติดเชื้อสำหรับหยอดตาหรือป้ายตาทารกเมื่อคลอดแล้วทันที
ข้อ 21. ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ทั้งชั้นหนึ่งและชั้นสอง จะต้องบันทึกการรับฝากครรภ์และการทำคลอดทุกรายในสมุดบันทึกการผดุงครรภ์ตามแบบของสภาการพยาบาลและต้องรักษาสมุดนั้นไว้เป็นหลักฐาน
การบันทึกการรับฝากครรภ์และการทำคลอดตามวรรคหนึ่งของกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่น ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือสภากาชาดไทย จะใช้สมุดบันทึกของกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่น ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือสภากาชาดไทยก็ได้และต้องรักษาสมุดนั้นไว้เป็นหลักฐาน
(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 83 ง ลงวันที่ 11 กรกาคม 2550)

หมวด 3
การประกอบวิชาชีพการผดุงภรรภ์
อย่างไรก็ดีเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพ กระทำความผิดจะต้องถูกสอบสวนและถูกลงโทษทางจริยธรรม ซึ่งกระบวนการสอบสวนจะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ มาตรา 33 วางหลักไว้ว่า บุคคลที่ได้รับความเสียหายเพราะผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพและการผดุงครรภ์ บุคคลดังกล่าวมีสิทธิกล่าวหาผู้ก่อให้เกิดความเสียหายนั้น โดยทำเรื่องยื่นต่อสภาการพยาบาล นอกจากนี้ การพิจารณาความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพฯ ตาม มาตรา 33 อาจมาจากการกล่าวโทษของกรรมการสภาการพยาบาลตามที่ได้รับข้อร้องเรียน ต่าง ๆ ดังนี้ คือ

1. การร้องเรียนด้วยการทำหนังสือถึงสภาการพยาบาลโดยตรง ผู้ร้องเรียนอาจได้แก่ ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการประกอบวิชาชีพฯ เช่น ผู้ป่วย ผู้รับบริการ ผู้ร่วมงาน ผู้ร่วมประกอบวิชาชีพและบุคคลอื่น หรือจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียหาย เช่น ญาติผู้ป่วย ญาติผู้รับบริการและบุคคลผู้รู้เห็นเหตุการณ์โดยผู้ร้องจะต้องแจ้งชื่อที่อยู่ของตนเป็นที่แน่นอน พร้อมทั้งระบุกรณีที่กล่าวหา ซึ่งมีมูลกรณีเพียงพอที่จะสามารถดำเนินการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงได้

2. การร้องเรียนผ่านสื่อต่าง ๆ เช่นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และสิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆ โดยอาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพโดยรวม

3. การกล่าวโทษของกรรมการสภาการพยาบาล ซึ่งกรรมการอาจรู้เห็นหรือสงสัยว่าผู้ประกอบวิชาชีพในหน่วยงานของตนหรือหน่วยงานอื่นประพฤติผิดจริยธรรม หรือมีผู้บอกให้รู้หรือพบเห็นจากการตรวจสอบการปฏิบัติงานหรือพบเห็นจากพยานเอกสาร

4. การร้องเรียนผ่านหน่วยงานอื่น ๆและหน่วยงานนั้นพิจารณาว่ามีเหตุเห็นควรให้ต้องพิจารณาในส่วนของความประพฤติในการประกอบวิชาชีพฯ จึงเสนอเรื่องมายังสภาการพยาบาลเพื่อพิจารณา เช่น แพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กองการประกอบโรคศิลปะ หรือองค์กรของหน่วยงานเอกชน เป็นต้น

5. การพิจารณาความประพฤติด้านจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ ฯ จากผลการสอบสวนและคำสั่งลงโทษทางวินัยของข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

อย่างไรก็ดี การร้องเรียนด้วยบัตรสนเท่ห์ที่มิได้ระบุที่มาหรือชื่อ-สกุล ได้มีมติคณะรัฐมนตรีแจ้งโดยหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นว 148/2502 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2502 ว่าไม่ควรรับไว้พิจารณาเว้นแต่รายที่ระบุพยานหลักฐานกรณีแวดล้อม ปรากฎชัดแจ้ง ตลอดจนชี้พยานบุคคลแน่นอน

รูปแบบการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการจริยธรรม

1. การสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีเรื่องร้องเรียน /กล่าวโทษ
เมื่อสภาการพยาบาลได้รับเรื่องร้องเรียน/กล่าวโทษจากที่ต่าง ๆแล้ว เลขาธิการสภาการพยาบาลจะพิจารณาเรื่องและเสนอให้ประธานคระอนุกรรมการจริยธรรมพิจารณาโดยมีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้ คือ

1) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการสภาการพยาบาลสืบหาข้อมูลเบื้องต้น เช่น ประเภทประกอบวิชาชีพ หมายเลขสมาชิก เลขที่ใบอนุญาต ฯลฯ เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าผู้ที่ถูกร้องเรียนเป็นสมาชิกที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาการพยาบาลหรือไม่

2) ประชุมคณะอนุกรรมการจริยธรรมพิจารณาเรื่องร้องเรียนตามข้อมูลเบื้องต้นและอาจมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือมอบหมายให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมชุดสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง ดำเนินการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง และสรุปรายงานเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการจริยธรรมเมื่อสืบสวนเสร็จสิ้น

3) ประชุมคณะอนุกรรมการจริยธรรมพิจารณารายงาน โดยที่ประชุมอาจมีมติให้แสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหรือให้ข้อคิดเห็นในเรื่องที่คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯชุดนั้นๆ เสนอและมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการสรุปรายงานพร้อมความเห็นเสนอคณะกรรมการสภาการพยาบาลเพื่อพิจารณา

4) เมื่อคณะกรรมการสภาการพยาบาลพิจารณาแล้ว อาจมีมติให้

1. คณะอนุการการจริยธรรมสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
2. ยกข้อกล่าวหา ในกรณีที่เห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล
3. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทำการสอบสวนต่อไป

5) เมื่อคณะอนุกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนแล้ว คณะกรรมการสภาการพยาบาล โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด


บทกำหนดโทษ

ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ได้กำหนดโทษไว้มี 2 ประเภท คือ
1. โทษสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพที่ประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพตามที่กำหนดไว้
2. โทษทางอาญาตามที่กฎหมายวิชาชีพกำหนดไว้
ในการประกอบวิชาชีพ กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่จะมาประกอบวิชาชีพฯ ต้องรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ (มาตรา 32) ดังนั้นหากมีการฝ่าฝืนต้องได้รับโทษ ซึ่งบทโทษสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพ มีสาระสำคัญดังนี้ คือ
1) ว่ากล่าวตักเตือน
2) ภาคทัณฑ์
3) พักใช้ใบอนุญาต
4) เพิกถอนใบอนุญาต

การว่ากล่าวตักเตือนหรือการภาคทัณฑ์ก็ดี เป็นโทษที่ใช้สำหรับความผิดที่ไม่ร้ายแรง และให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดได้ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมในการประกอบวิชาชีพของตนส่วนการพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตนั้นถือว่าเป็นโทษที่ร้ายแรงใช้สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพที่ประพฤติผิดอย่างร้ายแรง ในการประกอบวิชาชีพ สำหรับการพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตก็ดี ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ประกอบวิชาชีพ จึงจำเป็นต้องมีการกลั่นกรองจากสภานายกพิเศษเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด (มาตรา 26 (4))อย่างไรก็ดี หากสภานายกพิเศษมีความเห็นที่ขัดแย้งกับมติของคณะกรรมการในการพักใช้ใบอนุญาตหรือการเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว ให้คณะกรรมการสภาการพยาบาลได้มีการประชุมพิจารณาอีกครั้งภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันได้รับทราบการยับยั้ง ถ้ามีการยืนยันมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะก็ให้ดำเนินการตามมตินั้นได้ ถือได้ว่าเป็นคานอำนาจของสภานายกพิเศษประการหนึ่ง และยังถือเป็นการให้ผู้บริหารระดับสูงหรือระดับนโยบายในการกลั่นกรองความคิดเห็นของตนเองอีกครั้งหนึ่ง สำหรับโทษพักใช้อนุญาตนั้นกฎหมายกำหนดให้พักใช้ใบอนุญาตได้ไม่เกิน 2 ปี ดังนั้นทางคณะกรรมการฯจะกำหนดไว้เท่าใดก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 2 ปีตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนการเพิกถอนใบอนุญาตนั้น ผู้ได้รับโทษนี้ยังมีโอกาสที่จะขอใบอนุญาตได้อีก 2 ครั้งโดยใน ครั้งแรกต้องขอต่อคณะกรรมการแต่ต้องรอให้พ้น 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนก่อน ซึ่งหากคณะกรรมการปฏิเสธแล้ว ก็มีโอกาสอีกครั้ง โดยต้องรอให้ครบหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการฯปฏิเสธการออกใบอนุญาต หากในครั้งที่สองยังได้รับการปฏิเสธจากคณะกรรมการฯ ก็ถือว่าผู้นั้นหมดสิทธิที่ขอรับใบอนุญาตเป็นการถาวร

ส่วนโทษอีกประการหนึ่งคือ โทษทางอาญา ไม่ว่าจะเป็น การจำคุก หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับนั้น ได้กำหนดไว้ในมาตรา 46,47,48และ48 ทวิ ในมาตราดังกล่าวใช้บังคับทั้งผู้ประกอบวิชาชีพและบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพด้วย ตัวอย่างเช่น บุคคลภายนอกมาแอบอ้างว่าตนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ หากผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกพักใช้หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตก็ไม่มีสิทธิในการประกอบวิชาชีพเช่นกัน (มาตรา 43,27) หากมีการฝ่าฝืนก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ข้อสังเกต สภาการพยาบาลไม่มีสิทธิที่จะให้ผู้ฝ่าฝืนจำคุกหรือได้รับโทษทางอาญาอื่น ๆ แต่จะต้องให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สิ่งที่น่าพิจารณาประการถัดมา คือ หากผู้ประกอบวิชาชีพฯถูกพิพากษาจนถึงที่สุดให้จำคุก ผลที่ตามมาตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ทำให้ผู้นั้นต้องขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกสามัญ และไม่มีสิทธิที่จะสอบขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตต่อไป จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
การกระทำที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของพรบ.นี้ หรือ การกระทำที่ได้รับการยกเว้นความรับผิด
1. การพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ที่กระทำต่อตนเอง
2. การช่วยเหลือหรือเยียวยาแก่ผู้ป่วยตามหน้าที่ตามกฎหมาย หรือตามธรรมจรรยาโดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทนแต่การกระทำดังกล่าวต้องมิให้เป็นการฉีดยาหรือสารใดๆ เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย หรือการให้ยาอันตรายยาควบคุมพิเศษ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือยาเสพติดให้โทษ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
3. นักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรม ในความควบคุมของสถาบันการศึกษาวิชาการการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ของรัฐ หรือที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้จัดตั้ง หรือสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการรับรองทั้งนี้ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ผู้ฝึกหัดหรือผู้ให้การฝึกอบรมซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์
4. บุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริการส่วนท้องถิ่นอื่น ตามที่รัฐมนตรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือสภากาชาด มอบหมายให้กระทำการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
5. ผู้ประกอบโรคศิลปะซึ่งประกอบโรคศิลปะตามข้อจำกัดและเงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ
6. การพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ของที่ปรึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญของทางราชการหรือผู้สอนในสถาบันการศึกษาของรัฐซึ่งมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ของต่างประเทศ โดยอนุมัติของคณะกรรมการ
7. บุคคลซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ในกรณีที่มีสาธารณภัยหรือเกิดภัยพิบัติอย่างร้ายแรง
8. บุคคลซึ่งช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยในสถานพยาบาลในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลการผดุงครรภ์หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ตามระเบียบซึ่งรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นอกจากนี้การประกอบวิชาชีพฯ อาจมีการปฏิบัติหน้าที่ที่ก้าวล่วงในวิชาชีพอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาชีพเวชกรรม ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาระเบียบต่าง ๆที่เปิดโอกาสให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพฯ สามารถให้การพยาบาลได้โดยไม่ถือเป็นการขัดต่อกฎหมาย อาทิ ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยบุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมือง พัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นหรือสภากาชาดไทย มอบหมายให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2539 ระเบียบฉบับนี้ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไป ระเบียบดังกล่าวนี้ได้กำหนดให้ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสามารถทำการประกอบวิชาชีพเวชกรรม คือ
1) ผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรพนักงานอนามัย
2) ผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรเจ้าพนักงานสาธารณสุข (พนักงานอนามัย)
3) ผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรสาธารณสุขศาสตร์
4) ผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล
5) ผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาลและผดุงครรภ์
6) ผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาลและจิตเวช
7) ผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรพนักงานสาธารณสุขชุมชน
8) ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง
9) ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นสอง
10) ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง
11) ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นสอง
12) ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง
13) ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นสอง
กิจกรรมที่กำหนดให้บุคลากรทั้งหลายที่ได้กล่าวมาข้างต้นสามารถทำได้ ซึ่งได้แก่

1. ด้านอายุรกรรม ได้แก่
- การรักษาพยาบาลเบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการหรือโรคดังต่อไปนี้ ไข้ตัวร้อน ไข้และมีผื่นหรือจุด ไข้จับสั่น ไอ ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเดิน คลื่นไส้อาเจียน การอักเสบต่าง ๆ โลหิตจาง ดีซ่าน ดีซ่าน โรคขาดสารอาหาร อาหารเป็นพิษ โรคพยาธิลำไส้ โรคบิด โรคหวัด โรคหัด โรคหัด โรคสุกใส โรคคางทูม โรคไอกรน โรคผิวหนังและโรคติดต่อตามโครงการของกระทรวงสาธารณสุข
- การรักษาพยาบาลอื่น คือ
1. การให้น้ำเกลือในผู้ป่วยท้องเดินอย่างรุนแรง
2. การฉีดเซรุ่มแก้พิษงู
3. การสวนปัสสาวะ
4. การล้างกระเพาะอาหารโดยใช้สายยางในรายที่สงสัยว่ารับประทานสารพิษ

2. ด้านศัลยกรรม
- ผ่าฝี
- เย็บบาดแผลที่ไม่สาหัส
- ชะล้าง ทำแผล ตกแต่งบาดแผล
- ผ่าเอาสิ่งแปลกปลอมซึ่งอยู่ในตำแหน่งซึ่งไม่เป็นอันตรายต่ออวัยวะสำคัญของร่างกายออกโดยฉีดยาระงับความรู้สึกทางผิวหนัง

3. ด้านสูตินรีเวชกรรม
- ทำคลอดในรายปกติ
- ทำการช่วยเหลือขั้นต้นในรายที่มีการคลอดผิดปกติ
- ทำการช่วยเหลือในกรณีที่จะมีการแท้งหรือหลังแท้งแล้ว
4. การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
5. การวางแผนครอบครัว การฉีดยาคุมและจ่ายยาเม็ดคุมกำเนิด
6. การเจาะโลหิตจากปลายนิ้วหรือหลอดเลือดดำเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือเพื่อบริจาคเข้าธนาคารเลือด
7. ด้านปัจจุบันพยาบาล ให้การปฐมพยาบาลเกี่ยวกับการได้รับสารพิษ และสัตว์มีพิษกัดต่อย การแพ้ยา การแพ้เซรุ่มและวัคซีน การเสียโลหิต ภาวะช๊อค การเป็นลมหมดสติ หยุดหายใจ กระดูกหัก ข้อเคล็ดข้อเคลื่อน ชัก จมน้ำ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ไฟฟ้าดูด สิ่งแปลกปลอมเข้าตา หู คอ จมูกและกระเพาะอาหารและผู้ป่วยที่เจ็บหนัก
8. ด้านการวางแผนครอบครัว
- ใส่และถอดห่วงอนามัย
- ใส่และถอดยาฝังคุมกำเนิด
9. การผ่าตัดทำหมันหญิงหลังคลอด
10. ให้ยาสลบแต่ไม่รวมถึงการให้ยาชาทางไขสันหลังหรือการระงับความรู้สึกทางไขสันหลัง
11. กิจกรรมนอกเหนือจาก (1)
(10) เฉพาะรายหรือเฉพาะกรณี

หากพิจารณากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพยาบาลและผดุงครรภ์สามารถทำได้เมื่อได้รับการมอบหมาย
1. ผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาลและผดุงครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงรรภ์ ชั้นสอง ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดังนี้
ด้านอายุรกรรม รักษาพยาบาลเพื่อบรรเทาอาการหรือโรคไข้ตัวร้อน ไข้และมีผื่นหรือจุด ไข้จับสั่น ไอ ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเดิน คลื่นไส้อาเจียน การอักเสบต่าง ๆ โลหิตจาง ดีซ่าน โรคขาดสารอาหาร อาหารเป็นพิษ โรคพยาธิลำไส้ โรคบิด โรคหวัด โรคหัด โรคสุกใส โรคคางทูม โรคไอกรน โรคผิวหนังและโรคติดต่อตามโครงการของกระทรวงสาธารณสุข การให้น้ำเกลือในผู้ป่วยท้องเดินอย่างรุนแรง การฉีดเซรุ่มแก้พิษงู การสวนปัสสาวะ การล้างกระเพาะอาหารโดยใช้สายยางในรายที่สงสัยว่ารับประทานสารพิษ
ด้านศัลยกรรม ฝ่าฝี เย็บบาดแผลที่ไม่สาหัส ชะล้าง ทำแผล ตกแต่งบาดแผล ผ่าเอาสิ่งแปลกปลอมซึ่งอยู่ในตำแหน่งซึ่งไม่เป็นอันตรายต่ออวัยวะสำคัญของร่างกายออก โดยฉีดยาระงับความรู้สึกทางผิวหนัง
ด้านสูตินรีเวชกรรม ทำคลอดในรายปกติ ทำการช่วยเหลือขั้นต้นในรายที่มีการคลอดผิดปกติ ทำการช่วยเหลือในกรณีที่จะมีการแท้งหรือหลังแท้งแล้ว
การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
การวางแผนครอบครัว ฉีดยาคุมและจ่ายยาเม็ดคุมกำเนิด
การเจาะเลือดจากปลายนิ้วหรือหลอดเลือดดำเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือเพื่อบริจาคเข้าธนาคารเลือด
ด้านปัจจุบันพยาบาล ให้การปฐมพยาบาลเกี่ยวกับการได้รับสารพิษ และสัตว์มีพิษกัดต่อย การแพ้ยา การแพ้เซรุ่มและวัคซีน การเสียโลหิต ภาวะช๊อค การเป็นลมหมดสติ หยุดหายใจ กระดูกหัก ข้อเคล็ดข้อเคลื่อน ชัก จมน้ำ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ไฟฟ้าดูด สิ่งแปลกปลอมเข้าตา หู คอ จมูกและกระเพาะอาหารและผู้ป่วยที่เจ็บหนัก
2. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นสอง ผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล หรือประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาลและจิตเวช ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ตาม ข้อ 1 ยกเว้นด้านสูตินรีเวชกรรม
3. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ตาม (1) แล้วให้ใส่และถอดห่วงอนามัยได้
4. ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง หรือผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นสองซึ่งได้ผ่านการอบรมตามหลักสูตรของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ตาม (1) แล้วให้ใส่และถอดห่วงอนามัยได้ ภายใต้เงื่อนไขดังนี้
ได้ทดสอบผู้ขอรับการใส่ห่วงอนามัยแล้วว่าไม่ตั้งครรภ์
- ผู้ขอรับการใส่ห่วงอนามัยได้คลอดบุตรมาแล้ว 45-60 วันและยังไม่มีประจำเดือน
- ผู้ขอรับการใส่ห่วงอนามัยได้คลอดหรือแท้งลูกมาแล้ว 30 วัน และยังไม่มีประจำเดือน
5. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ซึ่งได้ผ่านการอบรม ในหลักสูตรที่เกี่ยวกับการผ่าตัดทำหมันหญิงหลังคลอด หรือหลักสูตรที่เกี่ยวกับการใส่และถอดยาฝังคุมกำเนิด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำหนดแล้ว ทำการผ่าตัดทำหมันหญิงหลังคลอดหรือใส่และถอดยาฝังคุมกำเนิดได้
6. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ซึ่งได้รับประกาศนียบัตรการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรวิสัญญีพยาบาลจากกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร หรือสถาบันการศึกษาของรัฐบาล ทำการให้ยาสลบได้เฉพาะการให้ยาสลบชนิด General anesthesia คือ การทำให้หมดความรู้สึกตัว แต่ไม่รวมถึงการให้ยาชาทางไขสันหลัง หรือการระงับความรู้สึกทางไขสันหลัง ทั้งนี้ วิสัญญีพยาบาลนั้น ระเบียบยังกำหนดว่า การให้ยาสลบได้ต้องอยู่ในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี การประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามระเบียบดังกล่าวข้างต้น ต้องพิจารณาเงื่อนไขเหล่านี้ประกอบด้วย ซึ่งประกอบไปด้วย
1. ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบ กล่าวคือ ได้รับมอบหมายให้ทำกิจกรรมใดก็ต้องทำตามนั้น จะปฎิบัตินอกเหนือจากที่ได้รับมอบหมายไม่ได้
2. ต้องมอบหมายให้เฉพาะการปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติราชการตาม หน้าที่ซึ่งไม่รวมการปฏิบัติในภาคเอกชน เช่น ตามสถานพยาบาลเอกชน
3. ต้องอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
นอกจากระเบียบฯ พ.ศ. 2539 ข้างต้น ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับอาทิ ระเบียบฯที่ออกตามอำนาจของพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม ระเบียบที่ยกเว้นคนภายนอกมาประกอบวิชาชีพพยาบาล คือ ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยบุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมือง พัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นหรือสภากาชาดไทย มอบหมายให้กระทำการพยาบาลหรือผดุงครรภ์ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2544 ซึ่งจะไม่กล่าวรายละเอียดในที่นี้
http://base.bcnpy.ac.th/elearning/laws/B007.htm

Comments

Popular posts from this blog

หัวข้อที่ 4 หลักจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล มีดังนี้

หัวข้อที่ 5.เรื่องข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมทางการพยาบาล + การสอบสวน