หัวข้อที่ 4 หลักจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล มีดังนี้

หัวข้อที่ 4 หลักจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล มีดังนี้
1. ให้ผู้ป่วยมีความอิสระ (Autonomy)
คำว่า “autonomy” หมายถึง เอกสิทธิ์ หรือ อิสระ ในการปกครองตนเอง สิทธิ อิสรภาพ ความเป็นส่วนตัว อิสรภาพในการทำตามความปรารถนาของตน เป็นคนริเริ่มพฤติกรรมตนเอง และมีความเป็นตัวของตัวเอง โดยมีความอิสระทั้งด้านการตัดสินใจและอิสระในการกระทำ
การตัดสินใจอิสระ( autonomous decisions ) มีลักษณะ ดังนี้
1. ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณค่าและความเชื่อ
2. อาศัยข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอ
3. เป็นอิสระจากการถูกบังคับ
4. อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลและความตั้งใจ
กระทำอย่างอิสระ ( autonomous action ) ลักษณะ ดังนี้
1. เป็นการกระทำด้วยความตั้งใจ
2. เป็นการกระทำด้วยความเข้าใจ
3. เป็นการกระทำที่ไม่มีอิทธิพลใดมาควบคุม
การมีอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเอง โดยปราศจากการบังคับควบคุมจากภายนอก ดังเช่น การตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลตนเอง โดยไม่มีการแทรกแซงจากผู้อื่นแม้ว่าการตัดสินใจนั้นจะไม่พ้องต้องกันกับทีมการรักษาพยาบาล การตัดสินใจในการยินยอมหรือไม่ยินยอมในการรักษาพยาบาลซึ่งต้องเป็นการยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าว
ความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าว (Informed Consent)
หมายถึง ความยินยอมของผู้ป่วยที่ยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวกับแพทย์กระทำต่อร่างกายของตนตามกรรมวิธีของการประกอบวิชาชีพแต่ละประเภทนั้น โดยผู้ป่วยจะต้องได้รับการอธิบายหรือบอกเล่าให้เข้าใจว่าการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพนั้น มีวัตถุประสงค์อย่างไร รายละเอียดของการกระทำมีอะไรบ้าง และผลที่เกิดต่อผู้ป่วยในภายหลังจะเป็นอย่างไร ตลอดจนอันตรายหรือผลร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น หากมีจะมากน้อยเพียงใด ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพมีหน้าที่ต้องอธิบายหรือบอกกล่าวให้ผู้ป่วยทราบ
เหตุที่ต้องบอกเพราะ เป็นการกระทำต่อร่างกายมนุษย์ และเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจด้วยตนเองตามสิทธิของผู้ป่วย ดังนั้นก่อนให้รักษาพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล ต้องทำ ดังนี้
1. แนะนำตัว
2. อธิบายอาการของโรคและวิธีการรักษาเพื่อตัดสินใจร่วมกัน
3. บันทึกไว้ในเวชระเบียน
โดยที่หลักฐานเอกสารแสดงความยินยอมให้แพทย์ทำการรักษาควรมีสาระสำคัญ ดังนี้ วัน เวลา สถานที่ ชื่อ ที่อยู่ผู้ป่วยหรือญาติ และข้อความที่แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาจากแพทย์ผู้ให้การรักษาแล้ว และได้ตัดสินใจหรือยินยอมที่จะรับการรักษานั้น ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพ ไม่ใช่จากความประมาท ถ้าประมาทผู้ป่วยยังคงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายทางแพ่งและฟ้องเป็นคดีอาญาได้
พิจารณาแง่อายุให้ถือตาม “คำประกาศสิทธิของผู้ป่วย” (6 เมษายน 2541) ข้อ 10 ที่ว่า “บิดา มารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรม อาจใช้สิทธิแทนผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ผู้บกพร่องทางกาย หรือจิต ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิด้วยตนเองได้
กรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีจิตใจอ่อนแอไม่อยู่ในฐานะที่จะรับความจริงเกี่ยวกับความเจ็บป่วยนั้นได้ แพทย์ควรจะคุยกับญาติผู้ป่วยแทน
กรณีที่ไม่ต้องได้รับความยินยอม แพทย์ทำการรักษาได้ หากเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นการกระทำไปเพื่อชีวิตผู้ป่วย ได้แก่
1). อยู่ในภาวะฉุกเฉิน มักจะไม่รู้สึกตัว ไม่มีญาติมาด้วยมีผู้นำส่ง แพทย์พิจารณาอาการอยู่ขั้นอันตรายและจำเป็นกระทำการใดเพื่อช่วยชีวิตแพทย์สามารถดำเนินการได้เลย ถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายและจริยธรรม แง่กฎหมายอธิบายได้ว่าเป็นการกระทำด้วยความ จำเป็น กระทำเพื่อรักษาชีวิต ถือว่าเป็นเรื่องสามารถกระทำได้
2). ภาวะที่ไม่อาจแสดงเจตนาได้ตามปกติ อาทิ ผู้ป่วยจิตเวช หรือ ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย อยู่ในภาวะมีความผิดปกติของจิตใจไม่อยู่ในฐานะที่จะแสดงเจตนา เช่น คนทั่วไปได้ กรณีนี้คงต้องขอความยินยอมจากญาติแทน
2. การทำประโยชน์เกื้อกูล (Beneficence) หมายถึง การกระทำในสิ่งที่ดี เป็นการกระทำที่บ่งบอกถึงความเมตตากรุณา ความปรารถนาดี และเอื้อเฟื้อแก่เพื่อนมนุษย์ มุ่งมั่นให้บังเกิดสิ่งที่ดีที่สุดแก่ผู้ใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติภารกิจในหน้าที่โดยตระหนักถึงมาตรการในการป้องกัน ปฏิบัติภารกิจในหน้าที่ด้วยความเมตตา โอบอ้อมอารี เป็นการช่วยบุคคลอื่นให้ได้รับประโยชน์ตามที่สมควรจะได้และลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตราย มีลักษณะไม่ควรทำให้เกิดอันตราย ควรป้องกันอันตราย ควรบรรเทาความทุกข์ ควรส่งเสริมสิ่งที่ดีมีประโยชน์
การทำประโยชน์เกื้อกูล มีหลักการ 2 ประการ คือ
1). การทำประโยชน์ ซึ่งประกอบด้วย การป้องกันสิ่งเลวร้าย หรืออันตราย , การขจัดสิ่งเลวร้ายหรืออันตราย
2). การกระทำและส่งเสริมสิ่งที่ดี โดยพยาบาลต้องมีความตั้งใจจริงที่จะทำความดีเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้รับบริการ
3. หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรืออันตราย (Nonmaleficence or Doing no harm) หลักการนี้มีความสัมพันธ์กับหลักการของ Beneficence คือ ต้องการให้พยาบาลกระทำที่จะหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย ไม่นำสิ่งเลวร้ายหรืออันตรายมาสู่บุคคลอื่นทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ตลอดจนไม่ทำให้บุคคลอื่นเสี่ยงต่ออันตราย เช่น การจัดบุคลากรหรือมอบหมายงานให้บุคลากรที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับกิจกรรมที่กระทำ ซึ่งอาจจะมีอันตรายต่อชีวิตของผู้ใช้บริการได้ กฎเกณฑ์เหล่านี้ ได้แก่ ห้ามฆ่า ห้ามทำให้ปวด ห้ามทำให้ไร้ความสามารถ ห้ามทำให้ปราศจากความสุข ห้ามจำกัดอิสรภาพ เป็นต้น ลักษณะการไม่ทำอันตราย พอสรุปได้ว่า พยาบาลต้องปกป้องผู้ป่วยไม่ให้เกิดอันตรายจากผลการรักษา ไม่เกิดความทุกข์ทรมานมากขึ้น ไม่ลดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย นั่นคือคงความผาสุกแห่งชีวิตไว้นั่นเอง
ลักษณะการดูแลของพยาบาลที่ผิดหลักการไม่ทำอันตราย ประกอบด้วย 4 ลักษณะ ดังนี้
1). ผู้ประกอบวิชาชีพมีหน้าที่โดยตรงต่อบุคคลนั้น
2). ผู้ประกอบวิชาชีพละเลยหน้าที่ของตน
3). บุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับอันตราย
4). อันตรายเกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการละเลยหน้าที่นั้น


4. การปฏิบัติต่อผู้ป่วยทุกคนอย่างยุติธรรม (Justice) หมายถึง ความเท่าเทียม ความไม่ลำเอียง
พยาบาลจะต้องปฏิบัติต่อผู้รับบริการทุกคนไม่แตกต่างกัน โดยศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย การให้บริการตามลำดับความเร่งด่วน และความสำคัญของปัญหา ตลอดจนให้บริการอย่างเต็มศักยภาพ การอธิบายให้ผู้รับบริการเข้าใจในสถานการณ์ที่ต้องให้ความช่วยเหลือบุคคลอื่นที่เร่งด่วน ให้ทุกคนอยู่ในบรรยากาศที่กลมกลืนกัน ไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง หรือน้อยใจที่ขาดที่พึ่งโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของอายุ เพศ เศรษฐานะ หรือความแตกต่างอื่น ๆ
ความยุติธรรม หมายถึง ความสมดุลที่บุคคลพึงได้รับโดยมีหลักการพื้นฐานว่าบุคคลต้องได้รับการปฏิบัติเหมือน ๆ กัน ในกรณีที่มีความเหมือนกัน และต้องได้รับการปฏิบัติที่ต่างกันออกไปในกรณีที่มีความแตกต่างกัน และจากคำประกาศสิทธิผู้ป่วยระบุว่า ผู้ป่วยทุกคนจะต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน และสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้
สำหรับหลักการที่ใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินการปฏิบัติ เน้นสิ่งที่ปรากฏ (material principles) โดยกำหนดแนวทางการกระทำที่แสดงถึงความยุติธรรม ในลักษณะต่างๆ ดังนี้
- พิจารณาให้แต่ละบุคคลเท่าๆ กัน
- พิจารณาโดยคำนึงถึงความต้องการของแต่ละบุคคล
- พิจารณาโดยคำนึงถึงความพยายามของแต่ละบุคคล
- พิจารณาโดยคำนึงถึงสิ่งที่แต่ละบุคคลได้กระทำ
- พิจารณาโดยคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล
- พิจารณาโดยคำนึงถึงคุณค่าในสังคมของแต่ละบุคคล
5. การทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต (Fedility) สังคมคาดหวังในเรื่องความซื่อสัตย์ของพยาบาลมาก เพราะพยาบาลต้องรับผิดชอบในการรักษาและให้การพยาบาลแก่ผู้รับบริการ ซึ่งหมายถึงชีวิตที่ปลอดภัย และได้รับสิ่งที่มีคุณค่า มีมาตรฐาน ผู้รับบริการได้ฝากชีวิตให้ดูแล และไว้วางใจพยาบาลมาโดยตลอด พยาบาลเป็นบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นพยาบาลต้องซื่อสัตย์ต่อหลักการ ต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ ต่อตนเอง ต่อวิชาชีพ และต่อพันธะรับผิดชอบที่มี อาทิ การรักษาสัญญาและความลับของข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการดำรงรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ
6. การรักษาความลับของผู้ป่วย (Confidentiality)
หมายถึง การปกปิดความลับ ที่เป็นข้อตกลง สัญญา และพันธะหน้าที่ที่บุคคลหนึ่งทำกับอีกบุคคลหนึ่ง เป็นการเก็บข้อมูลที่เป็นอันตรายหรือน่าอับอายของผู้ป่วยเป็นความลับ โดยข้อมูลของผู้ป่วยจะนำไปเปิดเผยได้เฉพาะกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเท่านั้น
ความลับหมายถึง เรื่องราวเกี่ยวกับโรค อาการ ข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคล เป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคล ถ้ามีการเปิดเผยความลับถือว่าไม่เคารพต่อคุณค่าของความเป็นมนุษย์และสิทธิส่วนตัวของผู้ป่วย อาจมีผลทำให้เสื่อมเสียต่อผู้ป่วยและกระบวนการรักษาพยาบาล และเมื่อมองในด้านจรรยาบรรณสำหรับพยาบาลระบุไว้ว่า พยาบาลพึงเคารพสิทธิส่วนตัวของผู้ป่วยด้วยการรักษาเรื่องราวของผู้ป่วยไว้เป็นความลับ ส่วนแง่สิทธิของผู้ป่วยระบุไว้ว่าผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการปกปิดรายละเอียด และเรื่องส่วนตัวทุกประการของตนไว้เป็นความลับ
การรักษาความลับของผู้ป่วยมีข้อยกเว้น
1). ในการประชุมวิชาการทางการแพทย์ เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาโดยคำนึงถึง
ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยเป็นสำคัญ
2).ความปลอดภัยของสังคม เช่น โรคใหม่ โรครุนแรงโรคต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสังคม
ต้องรายงาน
3).กรณีผู้ป่วยไม่อาจรับผิดชอบหรือตัดสินใจด้วยตนเองได้ จำเป็นต้องแจ้งญาติ
4).กรณีที่อาจเกิดผลกระทบกระเทือนอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงปลอดภัยของ
ประเทศชาติ
5).ผู้ป่วยรับรู้และยินยอมให้เปิดเผย เช่น บริษัทประกันชีวิต
7. การบอกความจริง (telling the truth or veracity)
ซึ่งตามหลักการของการพูดความจริงนี้ อาจเกิดประเด็นได้เช่น ผู้ป่วยที่สงสัยว่าตนเองจะเป็นมะเร็งหรือไม่ และถามพยาบาลว่า เป็นมะเร็งใช่ไหมหรือญาติผู้ป่วยอาจจะมาขอร้องว่าไม่ให้บอกความจริงแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นต้น
การบอกความจริงเป็นความจำเป็นพื้นฐานสำหรับการสื่อสาร บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการบอกความจริงและไม่ถูกหลอกลวง เหตุผลที่ต้องบอกเพราะ
1. ผู้ป่วยมีสิทธิ์ที่จะรู้และอาจจะมีผลถึงการดูแลรักษาต่อไป
2. ผู้ป่วยจะได้รู้อนาคตของตนเอง ไม่วิตกกังวลกับสิ่งที่ไม่รู้ไม่แน่ใจ
3. เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกต่าง ๆ ออกมา และได้พูดคุยในเรื่องต่าง ๆ ที่อยากจะพูด
4. ทำให้ผู้ป่วยมีเวลาที่จะได้ทบทวนชีวิตที่ผ่านมาของตนเอง จัดการในเรื่องต่าง ๆ ให้เรียบร้อยและเตรียมพร้อมกับความตาย
5. ผู้ป่วยเองถึงแม้จะไม่ได้รับการบอกเล่าจากที่ไหนแต่ก็จะทราบได้เองในที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของสภาพร่างกายและท่าทีของผู้อื่นที่มีต่อคน ถ้าผู้ป่วยทราบได้เอง ความเชื่อมั่นที่มีต่อแพทย์จะลดลง เพราะเห็นว่าแพทย์ไม่ยอมบอกความจริงกับตน
ครั้นมองในแง่สิทธิของผู้ป่วยที่กล่าวว่า “ผู้ป่วยที่สิทธิที่จะได้รับการบอกเล่ารายละเอียดของข้อมูลเกี่ยวกับการวินิจฉัย การพยากรณ์โรค วิธีการบำบัดรักษาด้วยภาษาที่ผู้ป่วยสามารถเข้าใจได้ด้วยเหตุผล” ดังนั้น จึงควรบอก
สำหรับด้านข้อมูล แพทย์ควรบอกชื่อโรค อาการ สาเหตุ ระยะเวลารักษา วิธีปฏิบัติตนวิธีการรักษา วิธีการใช้ยา ความรุนแรงของโรค ผลแทรกซ้อน และค่าใช้จ่ายในการรักษา

Comments

Popular posts from this blog

หัวข้อที่ 7.เรื่องพรบวิชาชีพ

หัวข้อที่ 5.เรื่องข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมทางการพยาบาล + การสอบสวน